นางสาวรุ่งฤดี ลิขิตพงศ์ธร
เมื่อทารกแรกเกิดมีภาวะเจ็บป่วย ต้องแยกจากมารดามารับการดูแลอย่างใกล้ชิดจากเจ้าหน้าที่ในงานผู้ป่วยหนัก ทำให้มารดามีความวิตกกังวลเกี่ยวกับอาการและแนวทางการดูแลบุตร พยาบาลวิชาชีพจึงต้องให้ข้อมูลและความรู้ที่เกี่ยวข้องกับภาวะสุขภาพที่ ครอบคลุมปัญหา ความต้องการ และเสริมพลังอำนาจแก่มารดาและครอบครัวให้สามารถปรับตัวกับความเจ็บป่วยที่วิกฤตของทารกได้
งานผู้ป่วยหนักทารกแรกเกิด จึงพัฒนาแนวทางการปฏิบัติการให้ข้อมูลสุขภาพในทารกที่มีภาวะวิกฤตแก่มารดา เพื่อให้มารดาได้ข้อมูลสุขภาพที่รวดเร็ว ลดความวิตกกังวล และเพิ่มความพึงพอใจ ต่อระบบการให้ข้อมูลของงานผู้ป่วยหนักทารกแรกเกิดยิ่งขึ้น
นางสาวเยาวลักษณ์ กาญจนะ
เนื่องจากการจัดเก็บอุปกรณ์ เครื่องมือ ทางการแพทย์ปราศจากเชื้อ มีสภาพพร้อมใช้งานได้ทันตามเวลาที่ต้องการ เพื่อนำไปใช้ในการตรวจวินิจฉัยและรักษาโรคต่างๆ ต้องมีการควบคุมคุณภาพ และมีการนำอุปกรณ์ที่ผ่านการทำให้ปราศจากเชื้อก่อน ไปใช้ก่อน ( First in first out ) โดยมีการจัดเก็บอุปกรณ์เป็นระบบ ซ้ายไปขวา หรือหน้าไปหลัง ซึ่งอุปกรณ์มาใหม่จัดเรียงไว้ด้านซ้าย หรือด้านหลังของชั้นวางของ เมื่อหยิบห่ออุปกรณ์ไปใช้ ให้หยิบทางด้านขวาก่อน หรือหยิบทางด้านหน้าก่อน(ขึ้นกับระบบการจัดวาง) ซึ่งจากวิธีการดังกล่าวได้มีการนำมาใช้แต่ก็ยังพบว่ามีอุปกรณ์หมดอายุภายในหน่วยงาน และไม่ได้นำมาใช้ก่อน ทุกครั้งของการตรวจประเมินคุณภาพภายในหน่วยงานพบว่าการจัดเก็บอุปกรณ์ที่ผ่านการทำให้ปราศ จากเชื้อก่อน (First in first out ) ไม่ได้มีการนำไปใช้ก่อนซึ่งจากการเก็บข้อมูลในระหว่างเดือนมกราคม 2555และเดือนกุมภาพันธ์ 2555 พบอุบัติการณ์การจัดเก็บไม่ถูกต้อง 10 ครั้งต่อเดือน
ดังนั้นจึงได้นำแนวคิดการจัดเก็บอุปกรณ์นั้นโดยนำหลักการเดียวกับ IV สีรุ้ง โดยนำสี 7 สีมาใช้เป็นแนวคิดเพราะว่าใน 1 สัปดาห์มี 7 วันและในแต่ละวันจะมีสีประจำสัปดาห์คือ 7 สี คือวันอาทิตย์ (สีแดง) วันจันทร์(สีเหลือง) วันอังคาร(สีชมพู) วันพุธ (สีเขียว) วันพฤหัส(สีส้ม) วันศุกร์(สีฟ้า) วันเสาร์(สีม่วง) และของที่เราส่งอบไอน้ำจะมีมีอายุ 7 วันก็จะสามารถเทียบกับสีในแต่ละวันของสัปดาห์ได้ จึงได้นำหลักการนี้เพื่อเป็นแนวทางในการจัดเก็บอุปกรณ์ปราศจากเชื้อในหน่วยงาน
นางนริศา ทิมศิลป์
ทารกที่มีภาวะวิกฤต และมีข้อบ่งชี้ในการส่งตรวจการมองเห็นและการได้ยิน จะได้รับการนัดให้ไปตรวจฯ แต่จากทะเบียนสถิติใบส่งต่อพบว่ามีทารกไม่ได้รับการตรวจ ซึ่งเป็นการสูญเสียโอกาสในการส่งเสริมสุขภาพอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะอย่างยิ่งโรคจอตาในทารกเกิดก่อนกำหนด (ROP) ทำให้เกิดผลข้างเคียงรุนแรงตามมา จนสูญเสียการมองเห็นหรือตาบอดในที่สุด และภาวะสูญเสียการได้ยินในทารกแรกเกิดเป็นปัญหาที่พบได้บ่อย 1-2 ใน 1,000 ของทารกที่เกิดมีชีพต่อปี ซึ่งการไปตรวจตามนัด จะทำให้ทราบผลการตรวจคัดกรองและวินิจฉัยในระยะแรกเริ่ม ส่งผลต่อการวางแผนรักษาฟื้นฟูสุขภาพ ในระยะเวลาที่รวดเร็วมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น คลิกเพื่ออ่านเพิ่ม→
นายชัชวาลย์ โพธิ์ทัย
จากการที่แผนกสนามได้ทำงาน KM มาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งส่วนใหญ่จะเกี่ยวกับเรื่องการจัดสวนน้ำยาEM ดินผสม กล้าไม้ต่างๆ เพื่อนำใช้ในงานประจำเป็นส่วนใหญ่ แต่มิได้คำนึงถึงการทำงานที่เกี่ยวข้องในด้านสุขภาพ จึงเกิดการพูดคุยและปรึกษาหาแนวทางเพื่อที่จะจัดทำบางสิ่งบางอย่างที่สามารถให้เจ้าหน้าที่และบุคคลภายนอกหันมาสนใจสุขภาพของตนเอง โดยสามารถหาได้รอบๆตัวไม่สิ้นเปลืองค่าใช้จ่ายและให้เกิดประโยชน์สูงสุด
การกำหนดและสรุปเรื่องที่จะทำ เมื่อมีการประชุมปรึกษาหารือกันในแผนกจึงได้ข้อสรุปในการจัดทำโครงการโดยที่ทุกคนเห็นไปในทางเดียวกันว่าควรจะจัดทำ สวนสมุนไพรไทยเพื่อการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ เพื่อให้เจ้าหน้าที่-บุคคลภายนอกเข้ามาใช้ประโยชน์และเป็นแหล่งแลกเปลี่ยนเรียนรู้ทางด้านสมุนไพรไทยพื้นบ้าน อีกทั้งให้หันกลับมามองความสำคัญของสมุนไพรไทยพื้นบ้านที่มีอยู่รอบๆตัว
นางสมใจ กลิ่นด้วง
จากการที่ศูนย์ฯ ได้นำนโยบาย Green & Clean เพื่อเป็นการสนับสนุนนโยบายดังกล่าว งานพัสดุได้มองเห็นปัญหาของครุภัณฑ์ซึ่งอยู่ในคลังพัสดุ ซึ่งมีทั้งครุภัณฑ์ที่ชำรุดรอจำหน่ายและครุภัณฑ์บางชนิดที่สามารถนำกลับมาใช้ประโยชน์ได้ และจัดให้มีระบบการบริการข้อมูลสารสนเทศเผยแพร่ข้อมูลครุภัณฑ์จากการส่งคืน เพื่อการบริหาร การบริการพร้อมทั้งปรับปรุงพัฒนาเป็นระยะ ๆ ตามความเหมาะสม เกิดการใช้ทรัพยากรร่วมกันได้อย่างมีประสิทธิภาพและเกิดประโยชน์สูงสุดกับทางราชการเป็นการประหยัดทรัพยากร และพัฒนาบุคลากรผู้รับผิดชอบให้มีความรู้ความสามารถและทักษะในการปฏิบัติงาน ทั้งยังเป็นข้อมูลเบื้องต้นในการวางแผนการจัดซื้อสำหรับผู้บริหารต่อไป
นางฉันท์พิชชญา สุวรรณเกสร์
จากการดำเนินการพัฒนาระบบประปาขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ในเขตพื้นที่รับผิดชอบ ทั้ง 4 จังหวัด คือ นครสวรรค์ , กำแพงเพชร , พิจิตร และอุทัยธานี ปี 2555ซึ่งในการดูแลและเฝ้าระวังคุณภาพน้ำมีผลต่อการดำเนินชีวิตประจำวันของชุมชนในพื้นที่นั้นๆ ดังนั้นการมีระบบเฝ้าระวังคุณภาพน้ำประปา จะช่วยให้ท้องถิ่นและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องสามารถติดตามตรวจสอบคุณภาพน้ำประปาได้อย่างถูกต้องและเป็นระบบ
ประกอบกับผลจากการทำ BAR ซึ่งในปี 2555 ได้ทำการจัดการความรู้เรื่องแนวทางการจัดทำระบบเฝ้าระวังคุณภาพน้ำประปา ซึ่งได้กรอบแนวทางการจัดทำระบบเฝ้าระวัง ได้คัดเลือกองค์ความรู้ที่นำมาจัดการความรู้คือ แนวทางการพัฒนาระบบประปาและเฝ้าระวังคุณภาพน้ำประปาให้ได้มาตรฐาน เพื่อป้องกันโรคที่จะเกิดขึ้นเนื่องจากน้ำเป็นสื่อ
นางสาวกมลกาญจน์ คุ้มชู
เนื่องจากพื้นที่ในความรับผิดชอบของศูนย์อนามัยที่ 8 ประสบปัญหาอุทกภัยทั้ง 4 จังหวัด ประชาชนได้รับผลกระทบเป็นจำนวนมาก ทำให้หน่วยงานราชการไม่สามารถที่จะให้ความช่วยเหลือได้อย่างทั่วถึง ดังนั้นประชาชนผู้ประสบอุทกภัย จึงต้องมีความรู้เบื้องต้นเพื่อให้สามารถปฏิบัติตนได้เมื่อประสบอุทกภัย โดยเฉพาะเรื่องสุขาภิบาลสิ่งแวดล้อม ซึ่งเป็นเรื่องสำคัญที่จะช่วยป้องกันการเจ็บป่วย และการเกิดโรคระบาดในชุมชนได้ ที่ผ่านมาการให้ความรู้เรื่องสุขาภิบาลสิ่งแวดล้อมใช้วิธีการบรรยายให้แก่เจ้าหน้าที่สาธารณสุขไปถ่ายทอดต่อกับประชาชนผู้ประสบอุทกภัย หรือบางครั้งเจ้าหน้าที่ศูนย์อนามัยก็ไปบรรยายให้แก่ประชาชนผู้ประสบอุทกภัยโดยตรง เมื่อประเมินผลการดำเนินงานแล้วพบว่า ทำได้ไม่ครอบคลุมกลุ่มเป้าหมาย บางครั้งประสบปัญหาเรื่องการเดินทาง และไม่มีคู่มือสำหรับประชาชน และเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงาน ต้องจัดทำเป็นเรื่องๆ โดยเรียบเรียงขึ้นใหม่จากหลายแหล่งความรู้ ดังนั้นจึงคิดว่า หากจัดทำคู่มือการจัดการสุขาภิบาลสิ่งแวดล้อมสำหรับพื้นที่ประสบอุทกภัย ที่เน้นเฉพาะเนื้อหาสำคัญ และเป็นประโยชน์ต่อการดำเนินชีวิตของผู้ประสบอุทกภัยโดยใช้ภาษาง่ายๆ ในการเขียนน่าจะทำให้เกิดความเข้าใจได้เมื่ออ่านคู่มือ นอกจากนี้ยังคาดหวังว่า คู่มือฉบับนี้จะช่วยแบ่งเบาภาระของผู้นำชุมชน เจ้าหน้าที่สาธารณสุข เจ้าหน้าที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในการออกไปให้ความรู้จัดการสุขาภิบาลสิ่งแวดล้อมแก่ประชาชน รวมทั้งน่าจะส่งผลให้การจัดการสุขาภิบาลสิ่งแวดล้อมทำง่ายขึ้น เมื่อประชาชนเกิดความรู้ ความเข้าใจ
นางสาวนัยนา สำเภาเงิน
การรวมกลุ่มของผู้สูงอายุในลักษณะชมรมเป็นการรวบรวมผู้สูงอายุที่มีศักยภาพความสามารถในการทำกิจกรรมต่างๆร่วมกัน ตลอดจนสามารถช่วยเหลือกันในกลุ่มผู้สูงอายุเอง และเพื่อให้การดำเนินการภายใต้ชมรมผู้สูงอายุเป็นไปในทุกด้าน ทั้งด้านสังคม ใจ และกาย จึงมีเกณฑ์ประเมินชมรมผู้สูงอายุคุณภาพ และเกณฑ์ประเมินชมรมผู้สูงอายุที่มีกิจกรรมส่งเสริมทันตสุขภาพขึ้น แต่เนื่องจากเกณฑ์มีขึ้นหลายเกณฑ์ จึงเกิดแนวคิดร่วมกันของเจ้าหน้าที่ผู้รับผิดชอบงานสูงอายุ และงานทันตสุขภาพในผู้สูงอายุ เพื่อลดความซ้ำซ้อน ลดเกณฑ์ที่มีจำนวนมาก ลดภาระของเจ้าหน้าที่
โดยการผสานเกณฑ์ทั้งชมรมผู้สูงอายุคุณภาพ และชมรมผู้สูงอายุที่มีกิจกรรมส่งเสริมสุขภาพช่องปาก ตลอดจนเกณฑ์ประเมินการดูแลผู้สูงอายุระยะยาว (LTC) ในส่วนงานส่งเสริมทันตสุขภาพในระดับตำบล โดยการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ สอบถามความคิดเห็นทั้งจากเจ้าหน้าที่รับผิดชอบงาน ทันตสาธารณสุข และงานสูงอายุ และทั้งระดับจังหวัด อำเภอ ผ่านการทดลองใช้ (Try out) โดยพิจารณาความพึงพอใจของเจ้าหน้าที่ และนำข้อคิดเห็นมาปรับปรุงเพื่อให้สามารถนำไปใช้ได้จริง
นางฉันท์พิชชญา สุวรรณเกสร์
จากการสำรวจข้อมูลของศูนย์อนามัยที่ 8 ปี 2554 มีประปาเทศบาล ทั้งหมด 28 แห่ง ประปาหมู่บ้าน 1,990 แห่ง และประปาภูมิภาค 36 แห่ง และจากการดำเนินงานโครงการน้ำประปาดื่มได้ มาตั้งแต่ปี 2541 จนถึงปี 2554 มีระบบประปาที่น้ำประปาผ่านการรับรองแล้วทั้งหมด 53 แห่ง แต่จากการสุ่ม ตรวจเฝ้าระวังคุณภาพน้ำดื่มได้ของศูนย์อนามัยที่ 8 เมื่อปี 2546 พบว่า ระบบน้ำประปาที่ผ่านการรับรองประปาดื่มได้ สามารถรักษาคุณภาพได้เพียงร้อยละ 33.3 ซึ่งส่วนใหญ่ที่ไม่ผ่านเกณฑ์คุณภาพน้ำ คือ ด้านแบคทีเรีย
จากการศึกษารูปแบบการรักษาคุณภาพน้ำประปาดื่มได้ของจังหวัดนครสวรรค์ พบว่า การสุ่มตรวจติดตามอย่างสม่ำเสมอโดยเจ้าหน้าที่ และการประกาศเกียรติคุณสามารถกระตุ้นระบบประปา ให้มีการดูแลรักษาและเฝ้าระวังคุณภาพน้ำอย่างต่อเนื่อง โดยระบบประปาจะสามารถรักษาคุณภาพน้ำได้ร้อยละ 57.1 ปี 2552 – 2555 ศูนย์อนามัยที่ 8 ได้ดำเนินการโครงการเฝ้าระวังคุณภาพน้ำประปาดื่มได้ โดยสำรวจระบบประปาที่เคยผ่านการรับรองน้ำประปาดื่มได้ และระบบประปาที่สมัครเข้าร่วมโครงการประปาดื่มได้ จำนวน 97 แห่ง พบว่า ระบบประปาที่มีความพร้อม ในการส่งตัวอย่างน้ำส่งตรวจทางห้องปฏิบัติการ จำนวน 63 แห่ง คิดเป็นร้อยละ 64.9 มีโครงสร้างใช้การได้ ทุกระบบมีการดูแลบำรุงรักษาอย่างถูกวิธี และเติมคลอรีนถูกต้อง63 แห่ง คิดเป็นร้อยละ 100 และเฝ้าระวังคุณภาพน้ำประปาจนผ่านเกณฑ์น้ำประปาดื่มได้ 43แห่ง คิดเป็นร้อยละ 68.3 จากการสำรวจจำนวนระบบประปาทั้งหมด 2,054 แห่ง ระบบประปาที่สมัครเข้าร่วมโครงการประปาดื่มได้ ตั้งแต่ ปี 2551 – 2555จำนวน 114 แห่ง คิดเป็นร้อยละ 5.6
จากสถานการณ์ดังกล่าว และทิศทางการดำเนินงานด้านคุณภาพน้ำบริโภค ของกรมอนามัย ศูนย์อนามัยที่ 8 นครสวรรค์ จึงได้จัดทำ “โครงการเฝ้าระวังคุณภาพน้ำ ในเครือข่ายบริการที่ 3 ปีงบประมาณ 2556” ขึ้น เพื่อเตรียมความพร้อมระบบประปาที่ให้บริการแก่โรงเรียนที่เข้าโครงการโรงเรียนส่งเสริมสุขภาพระดับเพชร และติดตามให้ ผ่านเกณฑ์มาตรฐานน้ำบริโภคของกรมอนามัย พ.ศ.2553 ซึ่งจะส่งผลให้ประชาชนมีน้ำสะอาดปลอดภัยบริโภคเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องต่อไป
นางปิยวรรณ สุวัฒนรัตน์
สืบเนื่องจากผู้บริหารศูนย์อนามัยที่ 8 ต้องการให้มีกระบวนการติดตาม ตรวจสอบ การวางแผน การไปปฏิบัติราชการ และการสรุปประเมินผลโครงการต่างๆของเจ้าหน้าที่ศูนย์ โดยต้องการให้มีการสร้างระบบสารสนเทศจัดทำฐานข้อมูลการปฏิบัติราชการ เพื่อให้ผู้บริหารและผู้ที่เกี่ยวข้องสามารถเข้าถึงการตรวจสอบการวางแผนโครงการต่างๆได้อย่างสะดวก รวดเร็ว และเพื่อประหยัดกระดาษ ลดขั้นตอนการทำงานวัตถุประสงค์
1. เพื่อให้ศูนย์อนามัยที่ 8 มีระบบสารสนเทศในการวางแผน บริหารจัดการโครงการ และเพื่อเป็นการสนับสนุนการปฏิบัติงานประจำวันของเจ้าหน้าที่ศูนย์ฯที่มีมาตรฐาน และสามารถแลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างหน่วยงานครบทุกหน่วยงาน ทั้งองค์กร
2.ผู้บริหารสามารถตรวจสอบการวางแผนงาน โครงการได้อย่างสะดวก รวดเร็ว และเป็นปัจจุบัน
3.ผู้บริหาร และหัวหน้างานทุกลำดับชั้น สามารถควบคุม ติดตาม ประเมินผลการดำเนินงาน เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพ